
ข้อมูลชุมชน
นันทา ประสารวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโฉนดชุมชน คลองโยง-ลานตากฟ้า และ ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังน้ำท่วมปี 2554 อาจารย์ประภาสกลับมารณรงค์ในพื้นที่ มันเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะน้ำท่วมมันก็พาตะกอนดินมาด้วย นาหรือสวนในละแวกนี้เขาทำโดยที่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี อาจารย์ก็เลยหันมารณรงค์ให้เป็นจุดเริ่มต้น ย้อนกลับไปตอนยี่สิบสามสิบปีที่แล้วที่เราทำนาโดยไม่ใช้สารเคมี
ตอนแรกอาจารย์เริ่มจากที่ห้าไร่ ต่อมาก็มีน้องของอาจารย์เพิ่มอีกห้าเป็นสิบไร่ จากต้นปี 2555 ถึงตอนนี้เรามีพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ อยู่ภายใต้โฉนดชุมชน ซึ่งมีเนื้อที่ 1,800 ไร่ มีเกษตรกร 2,000 กว่าราย แต่การบริหารจัดการที่จะให้เขาเข้าสู่ระบบปลอดสารหรือระบบอินทรีย์ค่อนข้างยุ่งยาก เราจึงคุยกันว่าจะใช้วิธีซอยย่อยลงไปให้เกิดกลุ่มเล็กๆ ดีหรือไม่ โดยดูว่าเกษตรกรส่วนไหนพร้อมก็ทำ ก็เกิดกลุ่มหลายกลุ่มที่เขาพยายามก่อร่างสร้างตัว เพราะการทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเกษตรกรรวมตัวกันขึ้นมาเอง ความยั่งยืนมันเกิด แต่ถ้าเกิดจากการที่รัฐบาลหรือหน่วยงานมาทำ ความยั่งยืนมันไปไม่ได้ เพราะถ้ารัฐถอยกลับไป มันก็จบ กลายเป็นอนุเสาวรีย์
ผลผลิตเราตอนนี้มีข้าวอยู่ 3 สายพันธุ์ ข้าวหอมปทุมหรือปทุมเทพ ข้าวหอมนิล และข้าวหอมนครชัยศรี ซึ่งเพิ่งเริ่มทำเมื่อปลายปีที่แล้วเป็นฤดูกาลแรก เป็นข้าวพื้นเมืองของทุ่งนี้ หายจากทุ่งนี้ไปประมาณสี่สิบกว่าปี
"เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นการทำเกษตรแบบปลอดสารเคมี 100% มีเป้าหมายที่จะเป็นตลาดข้าวอินทรีย์และผักปลอดสารเคมีสำหรับคนเมือง โดยที่ด้านการผลิตข้าวได้มีการพัฒนาการปลูกในรูปแบบของนาโยน ใช้ข้าวพันธุ์พื้นเมือง และหันกลับมาทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค"
เป้าหมายและวิสัยทัศน์ของชุมชน

ประวัติภาคี เครือข่ายต่างๆ
กลุ่มบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า เป็นพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย จัดตั้งขี้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 และมีเจตนารมณ์ร่วมกันว่า หลังจากมีความมั่นคงในที่ดินทำกินด้วยบริหารจัดการในรูปแบบโฉนดชุมชน และมีแผนการใช้ที่ดินมุ่งพัฒนาพื้นที่ไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนในระยะยาว โดยเริ่มการจัดตั้งโรงสีชุมชนและจัดตั้งกลุ่มปลูกผักปลอดสารฯ สีข้าวเพื่อบริโภคในชุมชนและสีข้าวกล้องปลอดสารฯ และข้าวอินทรีย์จำหน่าย